ประวัติศาสตร์มอแกลน

ชนเผ่ามอแกลน


มอแกลน เป็นชนเผ่าพื้นเมืองกลุ่มหนึ่งในประเทศไทย คำว่า “มอแกลน” ถ้าออกเสียงตามภาษาของชาวเลมอแกลนแล้วจะมีเสียงสูง เป็น “หม่อแกล๊น”

ประวัติศาสตร์ชาวเลชนเผ่ามอแกลน

มอแกลนมีประวัติศาสตร์การตั้งถิ่นฐานบริเวณชายฝั่งจังหวัดพังงาและภูเก็ตมายาวนาน ในช่วงยุคก่อน พ.ศ.2360 หรือช่วง 12 ชั่วอายุคนมาแล้ว เล่าสืบต่อกันมาว่าถิ่นฐานเดิมของบรรพชนชนเผ่ามอแกลน ตั้งอยู่ในดินแดนทางฝั่งทะเลด้านตะวันออก แถบจังหวัดนครศรีธรรมราชในปัจจุบัน มีผู้นำชนเผ่ายุคนั้นคือ “พ่อตาสามพัน” หรือ “บ๊าบสามพัน” คำว่า “บ๊าบ” เป็นคำที่ใช้เรียกบรรพชนที่ชาวมอแกลนนับถือและเคารพบูชา ยุคนั้นมีมอแกลนการปกครองแบบพี่แบบน้อง มีผู้นำสืบทอดตามสายตระกูล มีประชากรนับหมื่น ชาวบ้านมีการปลูกข้าวไร่และหากินในทะเลอย่างอิสระ คำว่า “มอแกลน” คือชื่อของผู้นำบนแผ่นดินชนเผ่ามอแกลนในอดีต

กระทั่ง..มาถึงยุคการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ชนเผ่ามอแกลนต้องประสบกับความยากลำบาก “อี่บูม”น้องสาวของพ่อตาสามพันต้องไปแต่งงานกับเจ้าผู้ครองแผ่นดิน แต่ยังไม่พอใจ ลวงให้ทหารมาฆ่าที่ป่าหิมพานต์ฝั่งอันดามัน แต่รอดมาได้และต่อมาเสียชีวิตที่ “หลื่อฉั๊ก” หรือหาดบางสัก การสร้างวัดใหญ่ต้องสูญเสียชีวิตชาวมอแกลนไปมากมายหลังจากนั้น ชาวมอแกลนที่เหลือถูกข่มเหง รังแก จนในที่สุดได้แตกกระจายออกเป็น 2 สาย คือสายทางน้ำและสายทางบก มุ่งเดินทางสู่โพ้นทะเลอันดามัน

“เฒ่าทวดธานี” ผู้นำสายบก ได้พาลูกบ้านเดินไปตามเส้นทางแล้วปักหลักตั้งถิ่นฐานครั้งแรกที่แคว้นตะโกลา เรียกกันว่า “อากูน” ต่อมา “เฒ่าทวดธานี” ถูกลอบฆ่าเสียชีวิต ผู้นำจึงพากันอพยพหลบหนีจาก “อากูน” มาอยู่ที่ “บ้านในหยง” ช่วง พ.ศ. 2360 เกิดความขัดแย้ง การแย่งชิงและการกดขี่จากกลุ่มคน “บาตั๊ก” ที่ทยอยเข้ามาอยู่ในหยงมากขึ้น ทำให้ผู้นำสายตระกูลร่วมกันตัดสินใจและย้ายจากบ้านในหยงไปตั้งหมู่บ้านอยู่ตามป่ารกทึบริมชายฝั่ง ตั้งแต่ “ท่องคา”หรือภูเก็ตถึงเกาะพระทอง และตะกุลา ต.เกาะพระทอง อ.คุระบุรี จ.พังงา แล้วนัดเจอกันในช่วงเดือน 3 ของทุกปี ที่ “หาดหินลูกเดียว” ต.ไม้ขาว อ.ถลาง จ.ภูเก็ต เป็นที่มาของประเพณี “นอนหาด” เดือนกุมภาพันธ์ของชาวเลชนเผ่ามอแกลน


เพลง ตันหยงทวงแผ่นดิน

ความเชื่อ อัตตาลักษณ์ และวัฒนธรรม...

ภาษา : “มอแกลน” มีภาษาพูดของตัวเอง ส่วนภาษาเขียนนั้นเคยมี แต่ได้สูญหายไปกับผู้รู้ที่ล่วงลับไปแล้ว ผู้ที่เคยเรียนบอกเล่าว่า ตัวหนังสือที่มีลักษณะคล้ายภาษาเขียนของชนชาติ “ขอม” บ้างก็ว่าคล้ายภาษาบาลี